ประกาศโดยการทวีคูณคริสตจักร ตอนที่ 1 คริสตจักรต้องทวีคูณ

รายงานสถิติที่น่าสนใจซึ่งปรากฎในผลงานวิจัยของสถาบันพระคริสตธรรมฟูลเลอร์ (Fuller Theological Seminary)ระบุว่า  คริสตจักรที่ตั้งมานานเกิน 10 ปีขึ้นไป  ต้องใช้คน 85 คนเพื่อนำ 1 คนมาถึงความรอด   คริสตจักรที่ตั้งมานาน 4-7 ปี  ต้องใช้คน 7 คน เพื่อนำ 1 คนมาถึงความรอด   และคริสตจักรที่ตั้งมานาน 4 ปี  ต้องใช้คน 3 คน เพื่อนำ 1 คนมาถึงความรอด [1]

สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าคริสตจักรที่ตั้งขึ้นใหม่จะใช้คนจำนวนน้อยกว่าเพื่อนำคนใหม่ๆ มาพบพระคุณความรักของพระเจ้า   ดังนั้น การบุกเบิกเพื่อเริ่มตั้งคริสตจักรแห่งใหม่ซึ่งเป็นการทวีคูณคริสตจักรจึงเป็นวิธีการประกาศที่มีประสิทธิผลยิ่ง  เพราะที่ใดที่มีการทวีคูณคริสตจักร ที่นั่นก็จะมีศักยภาพสูงในการเจริญเติบโต  บรรยากาศในคริสตจักรจะเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น และสมาชิกจะมีส่วนร่วมในการรับใช้และการประกาศพระกิตติคุณ

เมื่อกล่าวถึงการทวีคูณคริสตจักร  บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นการตั้งคริสตจักรแห่งใหม่ในรูปแบบประเพณีนิยมหรือรูปลักษณ์ที่มักคุ้นชิน  คือมีสถานที่เจาะจง ขึ้นป้ายคริสตจักรอย่างชัดเจน และมีเวลาประชุมนมัสการที่แน่นอน   แต่สำหรับแนวคิดเรื่องการทวีคูณคริสตจักรที่กล่าวถึงนี้ คือ การทวีคูณชุมชนผู้เชื่อในรูปแบบหลากหลายที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่นนั้นๆ   และเหมาะสมกับกลุ่มคนที่เฉพาะเจาะจง   

การทวีคูณคริสตจักรจึงอาจเป็นการตั้งคริสตจักรโดยมีตัวอาคารที่ชัดเจนในพื้นที่ใหม่  หรืออาจเป็นการบุกเบิกกลุ่มคนใหม่   หรืออาจเป็นการขยายกลุ่มผู้เชื่อในพื้นที่เดิมผ่านรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การขยายกลุ่มเซลล์  การประชุมนมัสการตามบ้านและตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ คริสเตียนทุกคนและคริสตจักรทุกแห่งไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็สามารถมีส่วนร่วมในการทวีคูณคริสตจักรได้

ในพระธรรมมัทธิวบทที่ 16 ข้อ 18-19 กล่าวว่า “ฝ่ายเราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร และบนศิลานี้  เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นหามิได้   เราจะมอบลูกกุญแจแผ่นดินสวรรค์ให้ไว้แก่ท่าน  ท่านจะกล่าวห้ามสิ่งใดในโลก  สิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ เมื่อท่านจะกล่าวอนุญาตสิ่งใดในโลก  สิ่งนั้นจะกล่าวอนุญาตในสวรรค์ด้วย”

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ตั้งคริสตจักรซึ่งเป็นชุมชนของผู้ที่เชื่อศรัทธาในพระองค์  และทรงมอบสิทธิอำนาจให้แก่คริสตจักรเพื่อเป็นผู้ทำการแทนพระองค์ในโลกนี้   ชุมชนผู้เชื่อในคริสตจักรสมัยแรกได้เชื่อฟังพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์และกระทำพันธกิจตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความกระตือรือร้น   แม้ในขณะที่ต้องเผชิญการกดขี่ข่มเหง  ผู้เชื่อยังประกาศด้วยใจกล้าหาญและด้วยความชื่นชมยินดี   พวกเขาแบ่งปันความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างเป็นธรรมชาติ  ชักชวนกันไปร่วมสามัคคีธรรมตามบ้านเรือน   รวมตัวกันในพระวิหารเพื่อสรรเสริญพระเจ้า   ทำให้เกิดการทวีคูณชุมชนผู้เชื่อขึ้นจนแผ่ขยายข้ามเมืองและข้ามทวีป

ชุมชนผู้เชื่อมีความเข้มแข็งและสามารถส่งผ่านความเชื่อศรัทธามานานนับสองพันกว่าปีจวบจนถึงปัจจุบัน   เมื่อผู้เชื่อรวมตัวกันเป็นชุมชนคริสตจักรไม่ว่าในแห่งหนตำบลใด   ที่นั่นจะเกิดการทวีคูณได้โดยไม่สิ้นสุดเมื่อผู้เชื่อร่วมกันกระทำตามพระมหาบัญชาและพึ่งพาพระเจ้า


[1]   Larry Kreider and Floyd McClung.  Starting a House Church. Ventura, CA: Regal Books, 2007, p.30-31

รังสรรค์ สุกันทา (2012)   สนุกกับการประกาศ. กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

โพสท์ใน การรับใช้ | ใส่ความเห็น

ใกล้ชิดพระเจ้า..ในชีวิตประจำวัน: ตอน 2 แนวทางภาคปฏิบัติ 4 ประการ

แนวทางภาคปฏิบัติที่ช่วยส่งเสริมให้ใกล้ชิดสนิทพระเจ้า 4 ประการ : 
มุ่งมั่นใกล้ชิด พากเพียรอธิษฐาน นมัสการจากใจ รับใช้ทุกวัน

1. มุ่งมั่นใกล้ชิด

แนวทางภาคปฏิบัติของการมุ่งมั่นใกล้ชิดพระเจ้า  ได้แก่

  • ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละวันว่า จะใช้เวลาในการเฝ้าเดี่ยว  อธิษฐาน  อ่านพระคัมภีร์ ในช่วงไหน และใช้เวลานานเท่าไร
  • กำหนดวิธีการภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและทำได้จริง
  • ลงมือกระทำตามแผนที่กำหนดอย่างจริงจัง  ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
  • หาตัวช่วย เช่น ชวนเพื่อนทำด้วยกันเป็นกลุ่ม  นัดกันเป็นกลุ่ม หรือขอบางคนช่วยเตือนคุณ
  • สมัครเรียนพระคัมภีร์ โดยอาจจะเลือกแบบเข้าไปเรียนในระบบ  หรือเรียนด้วยตนเองในรูปแบบการศึกษาทางไกล  เพื่อให้คุณอยู่ในบรรยากาศที่กระตุ้นหรือส่งเสริมให้คุณแสวงหาพระเจ้าอยู่เสมอ
  • ตั้งเวลาสำหรับศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว (self-study) ทุกวัน
  • ใช้สื่อช่วยส่งเสริมให้คุณใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น  เช่น  ฟังเพลงนมัสการพระเจ้า  ฟังคำสอน  คำบรรยาย  คำพยาน  ซีดีอ่านพระคัมภีร์  หรือคำเทศนา  คุณสามารถให้ทำสิ่งเหล่านี้ได้ขณะอยู่บนรถ  ระหว่างทำอาหาร  ทำงานบ้าน หรือก่อนนอน เป็นต้น
  • ฟังคำเทศนาผ่านเว็บไซต์ (Website) ที่คัดกรองแล้วว่าจะช่วยให้คุณได้ใกล้ชิดพระเจ้า และมีเนื้อหาสาระถูกต้องตามหลักการพระคัมภีร์
  • ฟังรายการวิทยุของคริสเตียนที่มีคำพยานชีวิตที่ท้าทาย หรือมีรายการที่ส่งเสริมให้แสวงหาพระเจ้า
  • หาเพื่อนฝ่ายวิญญาณที่มีความมุ่งมั่นใกล้ชิดพระเจ้าเหมือนกัน  เพื่อท้าทายและช่วยหนุนใจกันและกัน
  • เข้าร่วมสามัคคีธรรมในกลุ่มเซลล์ เหมือนคริสเตียนในคริสตจักรสมัยแรก  บรรยากาศในกลุ่มเซลล์จะช่วยให้รักษาไฟแห่งความร้อนรน
  • อยู่ในคริสตจักรหรืออยู่ภายใต้ผู้นำหรือผู้สร้างสาวกที่คอยให้คำแนะนำและส่งเสริมให้คุณใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น
  • จัดเวลาไปรีทรีตส่วนตัว เพื่อทบทวนความตั้งใจของคุณกับพระเจ้าในแต่ละปี  เพื่อการรื้อฟื้นและพัฒนาชีวิตฝ่ายวิญญาณของคุณ
  • เข้าร่วมสัมมนาที่คัดกรองแล้วว่าเป็นประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมให้มุ่งมั่นรักษาชีวิตใกล้ชิดพระเจ้า
  • เลือกอ่านหนังสือที่มีแบบอย่างชีวิตของผู้ที่ใกล้ชิดสนิทพระเจ้า  จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้อยากใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น
  • เขียนความตั้งใจของคุณไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะทำอะไรบ้าง  เป็นเหมือนคำสัญญาของคุณกับพระเจ้า และประเมินผลเป็นระยะๆ ว่าทำได้หรือไม่  แม้ทำไม่ได้ทั้งหมดก็อย่าท้อถอย  ให้คุณพัฒนาตนเองมากขึ้น

2. พากเพียรอธิษฐาน

 แนวทางภาคปฏิบัติของการพากเพียรอธิษฐาน  ได้แก่

  • จัดเวลาส่วนตัวอธิษฐานตั้งแต่เช้าตรู่
  • ตั้งเป้าหมายอดอาหารอธิษฐานสัปดาห์ละ 1 วัน หรือ อดอาหารบางมื้อเพื่อใช้เวลาอธิษฐานแสวงหาพระเจ้า
  • เข้าร่วมอธิษฐานกลุ่มย่อย
  • เข้าร่วมการอธิษฐานที่คริสตจักรจัดขึ้นในโอกาสต่างๆ
  • อธิษฐานเผื่อผู้อื่นทุกวัน โดยมีรายชื่อและหัวข้ออธิษฐานเผื่ออย่างเจาะจง
  • อธิษฐานเมื่อเผชิญสถานการณ์วิกฤติต่างๆ
  • อธิษฐานแสวงหาพระเจ้าในเทศกาลต่างๆ เช่น  อธิษฐานเตรียมชีวิตสำหรับการไปร่วมค่ายประจำปีของคริสตจักร  การอธิษฐานสำรวจตนเองก่อนเข้าสู่เทศกาลอีสเตอร์  เป็นต้น
  • อธิษฐานในพระวิญญาณฯ ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 15 นาที
  • อธิษฐานเผื่อญาติมิตรและผู้ที่คุณรักห่วงใย ให้เปิดใจต่อข่าวประเสริฐทุกวัน โดยเขียนรายชื่อและหัวข้ออธิษฐานเผื่อแต่ละคนอย่างเจาะจง
  • อธิษฐานทำสงครามฝ่ายวิญญาณ โดยเฝ้าระวังอธิษฐานอยู่เสมอ
  • อธิษฐานตามอย่างที่พระเยซูสอน (มธ.6) หรือตามที่ผู้รับใช้พระเจ้าที่มีความเข้าใจแนะนำ
  • บันทึกหัวข้อที่คุณอธิษฐานและสิ่งที่ได้รับการตอบคำอธิษฐาน เพื่อจะหนุนใจตนเองและผู้อื่น
  • หาเพื่อนอธิษฐาน(Buddy) เพื่อกระตุ้นกันในการอธิษฐานอย่างต่อเนื่อง

 3. นมัสการจากใจ

 แนวทางภาคปฏิบัติของการนมัสการจากใจ  ได้แก่

  • เรียนรู้การนมัสการจากใจภาคปฏิบัติ
  • ฝึกการร้องเพลงนมัสการ  จดจำเนื้อเพลง  และฝึกร้องเพลงให้ได้
  • เรียนรู้จากผู้รู้  แม้การนมัสการมีหลายรูปแบบ  แต่หัวใจหลักคือนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง
  • ตั้งเวลาในการนมัสการส่วนตัวอย่างเจาะจงทุกวัน
  • ตั้งเวลาในการนมัสการในครอบครัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • นมัสการในกลุ่มย่อยหรือกลุ่มเซลล์ทุกสัปดาห์
  • นมัสการในคริสตจักรทุกสัปดาห์
  • เข้าร่วมสัมมนานมัสการ  หรือคอนเสิร์ตนมัสการบางโอกาส
  • สนับสนุนผลงานเพลงของคริสเตียนที่ชื่นชมในการนมัสการพระเจ้า
  • ฝึกร้องเพลงใหม่ๆ เพื่อใช้นมัสการพระเจ้า
  • ฝึกเล่นดนตรีสักหนึ่งชิ้น เพื่อจะนมัสการพระเจ้าส่วนตัว
  • เปิดเพลงนมัสการฟังอยู่เรื่อยๆ
  • เข้าไปในดูในเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเพลงหรือดนตรีนมัสการดีๆ เพื่อจะเรียนรู้การนมัสการ
  • ใช้การนมัสการในการรับใช้  เช่น ร้องเพลงนมัสการให้ผู้ป่วยฟัง  ร้องเพลงนมัสการเมื่อไปเยี่ยมเยียนพี่น้องตามบ้าน
  • นมัสการด้วยวิถีชีวิต โดยตระหนักว่าทุกอิริยาบถของคุณ คือการนมัสการพระเจ้าทั้งสิ้น  ดังนั้น การที่คุณทำบทบาทอย่างดีเลิศในทุกๆ ด้าน  ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอหรือด้อยโอกาสกว่าคุณ ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ก็คือการนมัสการพระเจ้าอีกรูปแบบหนึ่งด้วย

4. รับใช้ทุกวัน

 แนวทางภาคปฏิบัติของการรับใช้ทุกวัน  ได้แก่

  • เล่าคำพยานประสบการณ์ชีวิตของตนเองกับพระเจ้าและเป็นพยานพระกิตติคุณหรือข่าวประเสริฐทุกที่ ทุกเวลา  เช่น ที่ป้ายรถประจำทาง   บนรถประจำทาง  หรือระหว่างรอคิวทำสิ่งต่างๆ เป็นพยานกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่คุณซื้อของเป็นประจำ  เป็นต้น
  • แจกใบปลิวคำพยานชีวิตของคนที่มีประสบการณ์กับพระเจ้าในเรื่องต่างๆ  โดยเลือกใช้ใบปลิวที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคน
  • ช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำ หรืออธิษฐานเผื่อคนที่กำลังเจ็บป่วยหรือมีความทุกข์
  • เยี่ยมเยียนผู้ป่วยเพื่อให้กำลังใจและอธิษฐานเผื่อ
  • เตรียมอาหารรับรองพี่น้องในกลุ่มเซลล์หรือมื้อเที่ยงวันอาทิตย์
  • ต้อนรับดูแลผู้ที่มาเยี่ยมกลุ่มเซลล์หรือคริสตจักรครั้งแรก
  • เปิดบ้านต้อนรับดูแลผู้รับใช้ที่มาจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
  • เตรียมสถานที่หรือห้องประชุมคริสตจักรให้พร้อมสำหรับวันอาทิตย์
  • ดูแลความสะอาดห้องน้ำและบริเวณคริสตจักรในวันอาทิตย์
  • เชิญชวนญาติมิตรมาร่วมนมัสการที่คริสตจักรกลุ่มเซลล์ หรือในวันอาทิตย์ หรือในเทศกาลต่างๆ ที่คริสตจักรจัดงานประกาศ
  • อาสาตัวตกแต่งสถานที่หรือจัดเตรียมอาหารในงานสำคัญต่างๆ ที่คริสตจักรจัดขึ้น
  • เล่นดนตรีนมัสการในกลุ่มเซลล์หรือในคริสตจักร
  • จัดเตรียมพิธีมหาสนิท
  • นำนมัสการในกลุ่มเซลล์ การประชุมกลุ่มย่อยต่างๆ และในคริสตจักร
  • จัดเตรียมสูจิบัตรที่จะใช้ในวันอาทิตย์
  • จัดกิจกรรมและสอนรวีวารศึกษาแก่เด็กๆ ในวันอาทิตย์
  • สอนในชั้นเรียนพระคัมภีร์วันอาทิตย์ หรือในระหว่างสัปดาห์
  • จัดชมรมสอนภาษาอังกฤษ  ชมรมติว  หรือชมรมอื่นๆเพื่อการประกาศ
  • ร่วมในทีมพันธกิจเพื่อการบุกเบิกก่อตั้งคริสตจักรแห่งใหม่
  • อาสาตัวรับใช้ในองค์กรคริสเตียน และหน่วยงานคริสเตียนในด้านต่างๆ

ยิ่งคุณเข้าใกล้ชิดสนิทพระเจ้าจึงยิ่งดี เพราะทำให้รู้จักพระองค์ รู้จักน้ำพระทัยของพระองค์   ทำให้ชีวิตของคุณยิ่งได้รับการเปลี่ยนแปลง และจะได้รับพระพรนานัปการจากพระเจ้า ชีวิตที่ใกล้ชิดสนิทพระเจ้าจึงต้องมีการกระทำภาคปฏิบัติดังที่ได้เสนอแนะแนวทางบางประการไว้เป็นเบื้องต้นแล้ว

แหล่งที่มา:   รังสรรค์ สุกันทา (2011)   ใกล้ชิดสนิทพระเจ้า กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

โพสท์ใน การดำเนินชีวิต | ติดป้ายกำกับ , , , , | ใส่ความเห็น

ใกล้ชิดพระเจ้า..ในชีวิตประจำวัน: ตอน 1 ใกล้ชิดทุกวัน

แม้ว่าในพระคัมภีร์พระเจ้าได้ทรงกำหนดให้อิสราเอลรักษาสะบาโต สัปดาห์ละ 1 วัน   แต่ไม่ได้หมายความว่าคริสเตียนควรเข้าใกล้ชิดพระเจ้าเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งในวันอาทิตย์เท่านั้น  เพราะหลักการของสะบาโตคือ ให้ร่างกายได้พักผ่อนจากความเหนื่อยล้าด้วยการหยุดพักงาน   ให้จิตวิญญาณได้พักสงบด้วยการเข้ามาเฝ้าพระเจ้าและนมัสการพระองค์ร่วมกับพี่น้องในพระวิหารหรือธรรมศาลา  เพื่อจะรับการฟื้นกำลังขึ้นใหม่จากพระเจ้า   แต่ไม่ได้หมายความว่าระหว่างสัปดาห์หรือระหว่างวัน  เราไม่ต้องใกล้ชิดพระเจ้า พระเจ้าปรารถนาให้ผู้เชื่อทุกคนดำเนินชีวิตที่ใกล้ชิดสนิทกับพระองค์ทุกวันเวลา

โมเสสเป็นแบบอย่างผู้รับใช้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำประชาชนนับล้านคนออกจากอียิปต์ และเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารในทะเลทราย  ท่านสามารถฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างดี  เพราะท่านมีชีวิตที่ใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้า   พระคัมภีร์บันทึกว่าท่านได้สนทนากับพระเจ้าหน้าต่อหน้าอยู่เสมอเหมือนมิตรสหายสนทนากัน   ท่านจึงมีความเข้าใจและตอบสนองต่อพระสุรเสียงของพระเจ้าได้อย่างดี (อพย.33:9,11;ฉธบ.34:10)   เมื่อเผชิญปัญหาสิ่งใดท่านก็จะนำไปทูลต่อพระเจ้าและได้รับคำแนะนำจากพระเจ้าโดยตรง (อพย.14:15; 15:25; 17:1-6)

ผู้รับใช้ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนมีชีวิตที่ใกล้ชิดพระเจ้า   เช่น ชาร์ล จี. ฟินเน่ย์ (Charles G. Finney) ในวันที่ท่านกลับใจบังเกิดใหม่นั้น  ท่านกระตือรือร้นที่จะอธิษฐานมาก  จึงเข้าไปอธิษฐานในป่าตั้งแต่เวลาเช้าตรู่จนถึงเที่ยงวัน  ท่านสนทนากับพระเจ้าจนลืมนึกถึงเวลา แล้วท่านก็เริ่มต้นเทศนาพระกิตติคุณทันที   หลังจากวันนั้น  ท่านก็ปรารถนาที่จะนมัสการและอธิษฐานอยู่ตลอดเวลา

ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในวันหนึ่งว่า

“พอจวนถึงเวลาหยุดงาน  ข้าพเจ้าคิดในใจว่า เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสอยู่ที่ทำงานแห่งใหม่ตามลำพัง  ข้าพเจ้าจะเริ่มต้นอธิษฐานอีก  ตอนค่ำเมื่อเราจัดเครื่องแต่งห้องและหนังสือเรียบร้อยแล้ว และคนอื่นไปหมดแล้ว   ข้าพเจ้าอยู่กับพระเจ้าเพียงลำพัง   ข้าพเจ้าได้สนทนากับพระเจ้าอย่างทุ่มเทจิตใจ  ข้าพเจ้าตื่นเต้นและร้อนรนอยากจะสนทนากับพระองค์เหลือเกิน  เลยวิ่งเข้าไปในห้องข้างสำนักงาน  แม้ว่าห้องนั้น ไม่มีไฟผิงและไฟจุดให้สว่างเลย  แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าห้องนั้นสว่าง ข้าพเจ้าเปิดประตูแล้วคุกเข่าลงนมัสการพระเจ้า  ทันใดนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่าข้าพเจ้าเห็นองค์พระเยซู เหมือนกับที่ข้าพเจ้าเห็นคนอื่นๆ   เมื่อข้าพเจ้าอธิษฐาน พระองค์ทรงประทับอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้าจริงๆ…” [1]   

ท่านมีชีวิตที่ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นๆ และงานรับใช้ของท่านก็เกิดผลไม่ว่าท่านจะเดินทางไปเทศนาที่ไหน   คนจำนวนมากมายได้สัมผัสการทรงสถิตของพระเจ้าและคุกเข่าลงอธิษฐานสารภาพบาปกลับใจใหม่   การฟื้นฟูเกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งในประเทศอังกฤษและอเมริกาผ่านการรับใช้ของท่าน

คริสเตียนส่วนใหญ่รู้ว่าควรจะใกล้ชิดพระเจ้า  แต่กลับไม่ได้ใกล้ชิดพระองค์เท่าที่ควรจะเป็น  เป็นไปได้ที่บ่อยครั้งมักสะลาวนอยู่กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่นตลอดเวลา จึงไม่สามารถจะเชื่อมต่อกับพระเจ้าได้   ดังนั้น เราจำเป็นต้องหยุดเชื่อมต่อ (disconnect) กับบางคนหรือบางสิ่ง  เพื่อเข้าไปเชื่อมต่อ (connect) กับพระเจ้าที่รอเราอยู่

ในบทความตอนต่อไป  เราจะพบกับแนวทางภาคปฏิบัติที่ช่วยส่งเสริมให้ใกล้ชิดสนิทพระเจ้า   ซึ่งจะขอนำเสนอ  4  ประการ …

แหล่งที่มา:   รังสรรค์ สุกันทา (2011)   ใกล้ชิดสนิทพระเจ้า กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

แหล่งอ้างอิง:  [1] เจ. กิลคริสต์ ลอว์สัน. ประสบการณ์ของคริสเตียนคนสำคัญ. กรุงเทพฯ : กนกบรรณสาร, มปป., นน.8-20

โพสท์ใน การดำเนินชีวิต | ติดป้ายกำกับ , , | ใส่ความเห็น

ประกาศสไตล์พระเยซู: ประกาศโดยวิธีใด..

พระเยซูทรงใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่งทำการประกาศข่าวประเสริฐและทำให้แผนการไถ่ของพระบิดาสำเร็จ  นั่นเป็นเพราะพระองค์ทรงตระหนักถึงความเร่งรีบในการประกาศข่าวประเสริฐ   ไม่เคยปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไร้จุดหมาย   แต่ทรงใช้ทุกสถานการณ์เป็นโอกาสในการนำคนเข้าสู่ความรอด   ทั้งการประกาศโดยตรงผ่านการเทศนาและการสอน  การสนทนาส่วนตัว  การประกาศโดยอ้อมผ่านคำอุปมา  การรักษาโรค   และการทำหมายสำคัญการอัศจรรย์   เพื่อสำแดงความเป็นพระเจ้าผู้มีสิทธิอำนาจเหนืออาณาจักรฝ่ายโลก  และนำคนให้เข้าถึงแผ่นดินสวรรค์ด้วยการเชื่อและวางใจในพระองค์

การเทศนาและการสอน เป็นวิธีการหลักที่พระเยซูใช้ในการประกาศแผ่นดินของพระเจ้า  พระองค์เปิดเผยสำแดงสัจธรรมความล้ำลึกแห่งพระวจนะของพระเจ้าผ่านการเทศนาและการสอนมวลชนที่มาติดตามพระองค์   โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าและแผ่นดินของพระองค์  เพื่อชี้ให้เห็นว่าคำพยากรณ์เรื่องพระเมสสิยาห์เล็งถึงพระเยซูคริสต์   เพื่อให้กลับใจจากบาปและรับประสบการณ์บังเกิดใหม่    ผลจากการทำพระราชกิจนี้ทำให้คนจำนวนมากเชื่อไว้วางใจในพระองค์

การสนทนาส่วนตัวกับผู้คน หรือที่คริสเตียนมักเรียกว่า การเป็นพยานส่วนบุคคล   เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่พระองค์ใช้เพื่อนำคนมาถึงความจริงแห่งข่าวประเสริฐ   เช่น   การสนทนากับนิโคเดมัส  กับหญิงสะมาเรีย  และกับศักเคียส  เป็นต้น

พระเยซูทรงสำแดงพระปัญญาจากพระเจ้าผ่านการใช้ถ้อยคำประกอบด้วยความรู้และสติปัญญาในการเป็นพยานส่วนบุคคลเสมอ    เช่น   ขณะประกาศกับหญิงสะมาเรียทรงกล่าวสำแดงความรู้อันเกินธรรมชาติว่านางมีสามีหลายคนและคนที่นางอยู่ด้วยนั้นก็ไม่ใช่สามีของนาง   เหตุการณ์นี้ทำให้นางตระหนักว่าพระองค์มิใช่บุคคลธรรมดา  และเมื่อสนทนาถึงเรื่องสถานที่ใช้นมัสการพระเจ้าของชาวสะมาเรียที่ชาวยิวเกลียดชังนั้น พระองค์ทรงนำการสนทนาเข้าสู่เรื่องฝ่ายวิญญาณ  จนนำไปสู่การยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์  นางจึงรีบไปบอกข่าวดีให้แก่ชาวเมืองและชวนพวกเขาให้มาหาพระองค์   จนหลายคนได้เชื่อวางใจและกล่าวว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยโลกให้รอด (ยน.4:1-42)

หลายครั้งพระเยซูคริสต์ไม่สอนตรงๆ  แต่ทรงสอนโดยใช้คำอุปมา ตัวอย่างเช่น เรื่องแผ่นดินสวรรค์  เรื่องบุตรน้อยหลงหาย  เรื่องชาวสะมาเรียใจดี เป็นต้น   ในพระธรรมลูกาบทที่ 8 ข้อ 10  ทรงอธิบายเหตุผลที่ใช้วิธีเปรียบเปรยเช่นนี้ให้สาวกฟังว่า” …ข้อความลึกลับแห่งแผ่นดินของพระเจ้าทรงโปรดให้ท่านทั้งหลายรู้ได้  แต่สำหรับคนอื่นนั้นได้ให้เป็นคำอุปมา  เพื่อเมื่อเขาดูก็ไม่เห็น  และเมื่อเขาได้ยินก็ไม่เข้าใจ”

พระองค์ทรงกระทำหมายสำคัญและการอัศจรรย์บ่อยครั้ง เพื่อเปิดใจคนให้เกิดความเชื่อและมั่นใจว่าพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ก่อนที่จะทรงสั่งสอนเขาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า   เช่น   การเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นในงานสมรสที่หมู่บ้านคานา (ยน.2:6-11)  แม้พระองค์จะทรงกระทำการอัศจรรย์มากมาย   แต่พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงจิตใจภายในของผู้คนทั้งหลายมากยิ่งกว่า   การนำคนเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงภายในจิตวิญญาณก่อน  นั่นคือ การกลับใจบังเกิดใหม่  อันเป็นหนทางเดียวที่จะเข้าแผ่นดินของพระเจ้าได้    ดังที่พระองค์ตรัสสนทนากับนิโคเดมัสที่ได้มาถามพระองค์ (ยน.3:1-5)

การขับผีเป็นวิธีหนึ่งที่พระองค์ใช้ควบคู่การประกาศเพื่อปลดปล่อยคนจากการถูกจำจองหรือถูกผูกมัดจากอำนาจมาร (ลก.13:16)  ให้ได้รับอิสรภาพโดยทางความจริงแห่งข่าวประเสริฐ (ยน.8:32)   เพื่อนำเขามาสู่แผ่นดินของพระเจ้า   เช่น   ขณะที่พระองค์สั่งสอนที่ธรรมศาลาในเมืองคาเปอรนาอุม    ผีโสโครกที่สิงในชายคนหนึ่งทำให้เขาส่งเสียงร้องดังรบกวน   พระเยซูจึงทรงขับไล่ผีนั้นออก   เป็นเหตุให้กิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือไปตามหมู่บ้านแคว้นกาลิลี (มก.1:27-28)

การรักษาโรค เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่พระเยซูทรงใช้เพื่อสำแดงฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าเหนือความจำกัดของมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง เพื่อผู้ที่ได้รับการรักษาตลอดจนผู้ที่เป็นพยานในเหตุการณ์อัศจรรย์เหนือธรรมชาตินี้เปิดใจยอมรับและเชื่อในข่าวประเสริฐ    พระองค์ทรงรักษาคนให้หายเป็นอันมาก (มธ.4:23-25)  โดยกระทำควบคู่ไปกับการประกาศข่าวประเสริฐมากถึง 17 ครั้ง  และมีผลต่อการประกาศข่าวประเสริฐมากถึง 16 ครั้งด้วยกัน 20  (มธ.9:2-8; 9:32-33; 12:9-13; มก.1:23-28; 5:1-3,18-20; 7:32-37; 9:14-27; ลก.5:12-14; 13:10-13,16; 17:11-19; ยน.4:28-30; 9:1-7; กจ.3:1-8; 8:5-8; 9:32-35; 14:8-10)

อย่างไรก็ตาม  พระองค์ไม่ต้องการให้ฝูงชนติดตามพระองค์   เพียงเพราะเห็นการรักษาโรคและการทำอัศจรรย์ของพระองค์โดยที่เขาปราศจากความเชื่อ    ดังนั้น  บางครั้งพระองค์จึงไม่รักษาจนกว่าจะมั่นพระทัยว่าเขามีความเชื่อจริงๆ

บางครั้ง พระองค์ไม่ได้วางมือรักษาโรคหรือตรัสสั่งให้หายโรคโดยตรง  แต่พระองค์ตรัสว่าให้เป็นไปตามที่เขาเชื่อหรือตามความปรารถนาของเขา  เช่น   หญิงชาวคานาอันที่มาร้องขอให้พระองค์รักษาบุตรสาวของนาง  พระองค์ตรัสแก่หญิงนั้นว่า  “หญิงเอ๋ย ความเชื่อของเจ้าก็มาก  ให้เป็นไปตามความปรารถนาของเจ้าเถิด”  และบุตรของนางก็หายเป็นปกติ (มธ.15:21-28; มก.7:27-30) เป็นต้น

การประกาศพร้อมกับการรักษาโรคของพระองค์   เป็นเหตุทำให้คนเป็นอันมากเกิดความเชื่อและสรรเสริญพระเจ้า(มธ.15:30-31)  แต่ พระองค์ไม่ได้ใช้การรักษาโรคแทนการเทศนาข่าวประเสริฐแห่งความรอด  เพราะหลายคนได้รับการรักษาโรคแต่ไม่ได้ต้อนรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดก็มี    ดังนั้น พระองค์จึงสอนพระวจนะควบคู่ไปกับการสำแดงฤทธิ์อำนาจโดยการรักษาโรคและการปลดปล่อยเพื่อนำคนมาสู่ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้าด้วย

การจัดงานประกาศฟื้นฟูเพื่อรักษาโรคและปลดปล่อยคนจากสภาพปัญหาเป็นวิธีการหนึ่งที่คริสเตียนที่เชื่อเรื่องฤทธิ์อำนาจของพระเจ้ามักกระทำเพื่อเชิญชวนให้คนเข้าร่วมงานดังกล่าว   สิ่งที่คณะผู้จัดงานหรือผู้ที่เชิญชวนคนไปร่วมงานไม่ควรละเลยคือ  การอธิบายเรื่องข่าวประเสริฐให้แก่ผู้ที่ถูกเชิญชวนมา เพื่อทำให้เขาตระหนักถึงรากของปัญหาคือความบาป  และนำมาสู่การรับการยกโทษบาปจากพระเยซู   เพื่อจะยอมรับพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและนำเขาให้ติดตามพระเยซูอย่างแท้จริง    มิฉะนั้น เขาจะเข้าร่วมงานโดยมองว่าเป็นเพียงงานรักษาโรคทั่วไปเท่านั้น   แต่ไม่ได้เข้าใจถึงข่าวประเสริฐอย่างแท้จริง

คริสเตียนควรดำเนินตามแบบอย่างการประกาศสไตล์พระเยซู   โดยการมองหาช่องทางในการนำข่าวประเสริฐไปถึงกลุ่มคนต่างๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม   ทั้งที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส  ด้วยการสร้างโอกาสในการประกาศให้เกิดขึ้นได้เสมอ   เพื่อจะสามารถประกาศกับคนได้ทุกเวลา   ไม่จำเป็นต้องรอให้พร้อมก่อน   เพราะถ้าเรามัวรอให้พร้อมก่อน   เราอาจต้องเสียใจหากคนที่เราตั้งใจจะประกาศนั้นได้จากโลกนี้ไปก่อนแล้วโดยที่ยังไม่มีโอกาสได้ยินพระกิตติคุณแต่อย่างใด

ยางซอนคโย  หนุ่มพิการชาวเกาหลีที่เป็นอัมพาตทั้งตัวและสมองพิการ แม้สภาพร่างกายของเขาจำกัดแทบจะใช้การไม่ได้โดยสิ้นเชิง   อวัยวะที่เคลื่อนไหวได้ คือ คอและคางเท่านั้น   เขาจึงใช้เพื่อพิมพ์ข้อความบนมือถือ และใช้บังคับวีลแชร์ให้ไปในทิศทางที่ต้องการ   แต่เขาปรารถนาจะประกาศข่าวดีเรื่องของพระเจ้าอย่างแรงกล้า  จึงขอให้คนอุ้มไปนั่งรถเข็นไฟฟ้า (วีลแชร์) ที่ติดตั้งมือถือและทอล์คกิ้งดิคชันนารี (Talking Dictionary)  เพื่อช่วยนำทางและช่วยในการสื่อสารกับคนอื่น   วีลแชร์ของยางซอนคโยล้มคว่ำบ่อยครั้ง  แต่เขาก็ไม่เลิกรา  ยังคงพยายามที่จะเดินทางไปในทุกซอกทุกซอยเท่าที่เป็นได้แม้แต่ในท้องถนนที่อันตรายก็ตาม   เขาไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองเขาอย่างไร  เขารู้แต่เพียงว่าจะต้องสื่อสารเรื่องราวของพระเจ้าไปยังคนต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่พระเจ้าต้องการใช้ชีวิตของเขา  เขาเชิญชวนคนที่ผ่านไปมาให้หยิบใบปลิวคำพยานที่อยู่ใส่ในซองติดรถเข็นของเขาไปอ่าน   และจะขอบคุณทุกคนที่หยิบใบปลิวนั้นไป  แม้คนฟังสิ่งที่เขาพูดไม่ค่อยรู้เรื่องก็ตาม

ยางซอนคโยพูดว่า “หลายคนในโลกมองดูผมเฉยๆ  แต่ผมมองดูคนที่ไม่ได้รับความรอดเฉยๆไม่ได้…การประกาศเป็นความสุขเดียวของผม และเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ผมมีชีวิตอยู่… การประกาศเป็นทุกสิ่งในชีวิตของผม” 

หากคริสเตียนไทยทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการประกาศข่าวประเสริฐดังเช่นที่ยางซอนคโยมองเห็น  ก็จะมีคนได้รับความรอดอย่างมาก   ประเทศไทยคงจะมีจำนวนคริสเตียนเพิ่มขึ้นในแต่ละปีอย่างรวดเร็ว และเป็นเหตุให้พระเจ้าทรงอวยพระพรมาเหนือผืนแผ่นดินไทยให้เต็มด้วยความชอบธรรมและสันติสุขของพระ สถิติอาชญากรรมจะลดลง  ปัญหาทางสังคมจะลดน้อยลง  ประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  หากเราอยากเห็นแผ่นดินไทยเป็นเช่นนี้   ขอให้ร่วมกันประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้าให้มากที่สุดเพื่อพระพรของพระองค์จะมาสู่แผ่นดินไทยที่เรารัก

แหล่งที่มา: รังสรรค์ สุกันทา และ สุปรียา สุกันทา.(2010)  รับใช้สไตล์พระเยซู. กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

โพสท์ใน การรับใช้ | ติดป้ายกำกับ , , , | ใส่ความเห็น

ประกาศสไตล์พระเยซู: ประกาศที่ใด..

พระเยซูมีเวลาในการทำพันธกิจบนโลกนี้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น   จึงทรงวางแผนในการเดินทางและเลือกสถานที่ในการประกาศอย่างมีสติปัญญา   เช่น  ไปที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม  และธรรมศาลาในเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวของคนยิวในเวลานั้นเพื่อประกาศข่าวประเสริฐกับคนยิวซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพระองค์   แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ละเลยสถานที่ซึ่งยากต่อการประกาศข่าวประเสริฐเพราะคนไม่ตอบสนอง  เช่น พระองค์ยังทรงประกาศที่เมืองนาซาเร็ธแม้ที่นั่นคนจะไม่ยอมรับพระองค์   อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงจัดสรรเวลาเพื่อการประกาศตามการตอบสนองของคนในพื้นที่ต่างๆด้วย   จึงทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ทำพระราชกิจในแคว้นกาลิลีซึ่งตอบสนองดีกว่า

แม้พระเยซูทรงมีเป้าหมายที่จะนำมนุษย์ทุกเชื้อชาติ ทุกเผ่าพันธุ์มารับความรอด    แต่แนวทางหลักที่พระองค์ใช้คือการประกาศในเมืองที่มีคนตอบสนองต่อข่าวประเสริฐก่อน   หลังจากนั้น จึงไปประกาศในเมืองที่ยังไม่มีคนได้ยินข่าวประเสริฐเลย  และในระหว่างการเดินทางพระองค์ก็ใช้ทุกโอกาสที่จะประกาศข่าวประเสริฐด้วย

พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่พระเยซูทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำพันธกิจของพระองค์อยู่ในแถบปาเลสไตน์  ซึ่งมี 3 แคว้นหลักที่พระองค์ทรงเดินทางไปประกาศข่าวสารแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

แคว้นยูเดีย  เป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุด  อยู่ทางทิศใต้ ประกอบด้วยเมืองต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดี  ได้แก่  เบธเลเฮ็ม  เยรีโค และเยรูซาเล็ม  พระเยซูมักจะใช้เวลาสั่งสอนและเทศนาในเยรูซาเล็ม   แต่เมื่อฟาริสีซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อยอห์นผู้ให้บัพติศมาและต่อพระเยซู   ด้วยเหตุที่ทั้งสองได้รับความเชื่อถือจากประชาชนจำนวนมาก (ยน.4:1-3)  พระองค์จึงเสด็จออกจากแคว้นยูเดีย  แล้วไปกระทำพระราชกิจที่แคว้นกาลิลี

แคว้นกาลิลี อยู่ทางทิศเหนือ  ชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มมีอคติต่อชาวกาลิลีเนื่องจากชาวแคว้นนี้มีภาษาท้องถิ่นเฉพาะของตน  และพวกเขาเลือกอาศัยอยู่ห่างไกลเยรูซาเล็มซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของดินแดนปาเลสไตน์   แต่หลังจากพวกฟาริสีต่อต้านไม่ยอมให้ชาวยิวเลิกถือปฎิบัติแบบยูดานิยมไปติดตามเป็นสาวกของพระเยซู   พระองค์ทรงเลือกที่จะเดินทางออกจากแคว้นยูเดียมายังแคว้นกาลิลี     และทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ทำพระราชกิจที่สำคัญในแคว้นนี้   ไม่ว่าจะเป็นการทรงเรียกสาวก 11 คนจากทั้งหมด 12 คน  และการทำหมายสำคัญการอัศจรรย์มากมายหลายประการ  จนเป็นเหตุให้มีคนเชื่อวางใจและติดตามพระองค์เป็นจำนวนมาก

แคว้นสะมาเรีย อยู่ระหว่างแคว้นยูเดียกับเทือกเขาคารเมล เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวสะมาเรียซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ชาวยิวในแคว้นยูเดียและกาลิลีรังเกียจ  ถือว่าทำให้เชื้อชาติยิวต้องเป็นมลทิน   เนื่องจากคนเหล่านี้เป็นเชื้อสายยิวลูกผสมที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างคนยิวกับชนต่างชาติในช่วงที่อาณาจักรเหนือล่มสลาย   คนยิวในอาณาจักรเหนือถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่อัสซีเรีย และกษัตริย์อัสซีเรียพาชนชาติอื่นมาอาศัยอยู่ในดินแดนนี้แทน (2 พกษ.17)     ชาวยิวไม่นิยมใช้เส้นทางนี้แม้ว่าการเดินทางจากเยรูซาเล็มไปกาลิลีโดยผ่านแคว้นสะมาเรียจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด 19  แต่พระเยซูทรงเลือกเส้นทางจากแคว้นยูเดียไปยังแคว้นกาลิลีที่ผ่านแคว้นสะมาเรียเพื่อหลบหลีกการปองร้ายจากพวกฟาริสี (ยน.4:3-4)   พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าไม่ทรงเห็นด้วยกับอคติของคนยิวที่มีต่อชาวสะมาเรีย   และพระองค์ไม่มีอคติต่อผู้หนึ่งผู้ใดเลย

พระธรรมยอห์น บทที่ 4 ข้อ 4   ใช้คำว่าพระเยซู “จำต้อง” เสด็จผ่านแคว้นสะมาเรีย  คำนี้ภาษากรีกหมายความว่า “เบื้องบนบัญชา” เพราะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้พระเยซูทรงผ่านแคว้นนี้เพื่อช่วยชาวสะมาเรียให้ได้รับความรอด   ระหว่างการเดินทางพระเยซูทรงนั่งพักเหนื่อยข้างบ่อน้ำในช่วงเที่ยง  พระองค์ได้ประกาศกับหญิงสะมาเรียที่มาตักน้ำ  จนหญิงนั้นมีความเชื่อว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์  จึงออกไปเล่าเรื่องราวที่ได้สนทนากับพระเยซูให้คนอื่นๆ ในเมืองฟัง   เป็นเหตุให้อีกหลายคนได้รับความรอด (ยน.4:39-42)  นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงใช้ทุกโอกาสในการนำข่าวประเสริฐไปถึงคนทั้งปวงอย่างแท้จริง

พระคัมภีร์บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าพระเยซูทรงเลือกใช้สถานที่สำคัญๆเพื่อใช้ในการประกาศ  ได้แก่  ธรรมศาลา  พระวิหาร   บ้าน   และสถานที่แวะพักระหว่างทาง เป็นต้น   พระองค์ทรงมองหาสถานที่ที่มีคนจำนวนมากและพร้อมจะตอบสนองต่อข่าวประเสริฐของพระองค์เป็นอันดับแรก เช่น

พระวิหาร เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาที่คนยิวต้องเข้าไปทำศาสนกิจเป็นประจำ  โดยเฉพาะในเทศกาลสำคัญๆ ตามปฏิทินของยิว   เช่น เทศกาลปัสกา  เทศกาลอยู่เพิง และเทศกาลเพนเทคศเต  ไม่ว่าคนยิวตั้งรกรากอยู่ ณ ที่ใดก็ตามก็จะต้องเดินทางไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อนมัสการพระเจ้า (ยน.2:13, 5:1)  พระเยซูจึงทรงใช้โอกาสที่มีคนจำนวนมากมาร่วมเทศกาลเหล่านี้เพื่อเทศนาสั่งสอนเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าด้วย

ธรรมศาลา (Synagogue)  เป็นสถานที่พบปะรวมตัวของคนยิว  ในวันสะบาโตซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาคนยิวจะต้องไปร่วมชุมนุมเพื่ออธิษฐาน  อ่านและฟังคำสอนจากพระบัญญัติของพระเจ้าท่ามกลางที่ประชุมในธรรมศาลา  พระเยซูทรงเดินทางไปร่วมประชุมในธรรมศาลาเสมอ (มก.1:21-34; ลก.4:31-36)    พระองค์ทรงได้รับความนับถือและได้รับเกียรติจากนายธรรมศาลาในฐานะ “รับบี”  ทรงสอนพระวจนะในธรรมศาลาด้วยสิทธิอำนาจและแบบอย่างชีวิตแห่งความรัก  ความเมตตา จนคนยิวอัศจรรย์ใจในคำสอนของพระองค์ (มธ.4:23, ลก.4:22)

นอกจากนี้  พระองค์ทรงใช้ บ้านของคนรู้จัก เช่น บ้านของเปโตร ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลกาลิลี (มก.1:29)  ที่นั่นทรงพบแม่ยายเปโตรนอนป่วยจับไข้อยู่ (มธ.8:14) พระองค์ทรงรักษานางให้หายแล้ว  แล้วนางก็ลุกขึ้นมาปรนนิบัติพระองค์กับสาวก (ลก.4:39, มธ.8:15, มก.1:31)  เหตุการณ์นี้ทำให้กิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือไปทั่วเมืองคาเปอรนาอุม ทำให้มีคนจำนวนมากที่เจ็บป่วยต่างพากันมาหาพระองค์ (ลก.4:40) พระองค์จึงทรงสั่งสอน   ตอบปัญหา  รักษาโรคให้คนเจ็บป่วย   นอกจากนี้ยังมีชาวเมืองที่อยากรู้อยากเห็น  พวกฟาริสี  และบาเรียนซึ่งเป็นผู้รอบรู้บทบัญญัติจากทุกเมืองในกาลิลี ยูเดีย และเยรูซาเล็มมาปะปนมาด้วย (ลก.5:17)  ประชาชนได้ทูลขอให้พระองค์ประทับอยู่ในคาเปอรนาอุมต่อ (ลก.4:43)  แต่พระองค์ทรงตระหนักดีว่ายังมีเมืองอื่นที่ต้องการข่าวประเสริฐ (มก.1:38)   จึงเสด็จเดินทางไปทั่วแคว้นกาลิลี

ปัจจุบัน คริสตจักรทั่วโลกกำลังกลับมาให้ความสนใจเรื่องการตั้งคริสตจักรตามบ้าน   เพราะเป็นยุทธวิธีในการประกาศและตั้งคริสตจักรที่เกิดผล   สามารถรองรับกลุ่มคนในพื้นที่ต่างๆ ให้ร่วมกันนมัสการพระเจ้า ศึกษาพระคัมภีร์   และเป็นพยานข่าวประเสริฐได้ไม่แพ้คริสตจักรขนาดใหญ่ที่มีคนมาร่วมนมัสการเกินร้อย    หากคริสเตียนร่วมกันทำคริสตจักรตามบ้านให้เข้มแข็ง   มีการจัดระบบระเบียบที่ดี  มีผู้นำที่ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างและเข้าใจพระวจนะเป็นอย่างดีที่สามารถสั่งสอนสมาชิกให้เติบโตขึ้นในทางพระเจ้า    ผมเชื่อว่า คริสตจักรตามบ้านจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของคริสตจักรได้ทวีคูณอย่างคาดไม่ถึง

แหล่งที่มา: รังสรรค์ สุกันทา และ สุปรียา สุกันทา.(2010)  รับใช้สไตล์พระเยซู. กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

โพสท์ใน การรับใช้ | ติดป้ายกำกับ , , , | ใส่ความเห็น

ประกาศสไตล์พระเยซู: ประกาศกับคนกลุ่มใด…

การประกาศ “ข่าวสารแห่งอาณาจักรสวรรค์” เป็นสิ่งที่อยู่ในพระทัยของพระเยซูตลอดเวลา   เพราะเป็นเป้าหมายหลักของการเสด็จมาบนโลก   พระองค์ทรงตระหนักถึงความเร่งด่วนของประกาศเพราะทรงมีเวลาที่จำกัด   จึงทรงวางแผนในการประกาศอย่างดีที่สุดเพื่อกระทำให้น้ำพระทัยของพระบิดาสำเร็จ (มก.1:15; ยน.7:33)

ผู้เชื่อทุกคนได้รับมอบหมายให้มีส่วนร่วมในการประกาศข่าวสารจากสวรรค์   แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ตอบสนองในการทำหน้าที่พันธกรผู้นำข่าวดีนี้ไปยังผู้อื่น   ช่างเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เขาพลาดพระพรอันยิ่งใหญ่   เราควรตระหนักว่าภารกิจแห่งการประกาศข่าวประเสริฐเป็นสิทธิพิเศษ   และเรียนรู้ที่จะเป็นทูตของพระคริสต์ผู้นำข่าวสารสำคัญนี้ไปยังคนทั้งปวง  โดยเลียนแบบรูปแบบตลอดจนวิธีการประกาศประกาศสไตล์พระเยซู  และนำมาปรับใช้เพื่อการประกาศข่าวประเสริฐอย่างเกิดผล

พระองค์ประกาศกับคนกลุ่มใด…

พระเยซูเริ่มต้นงานประกาศโดยทรงมองหาคนที่มีใจตอบสนอง   นั่นคือ คนที่มีใจหิวกระหายแสวงหาความจริงและต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ (มธ.11:12; มก.2:17)  พระเยซูประกาศแก่ทุกคน   ทั้งในระดับส่วนตัวและระดับมวลชน    ประกาศแก่กลุ่มคนทุกประเภท   ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นสูงผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคมของคนยิวเช่นนิโคเดมัส  หรือคนที่ต่ำต้อยด้อยโอกาส เจ็บป่วย ตาบอด เป็นง่อย เป็นโรคเรื้อน   คนที่มีฐานะมั่งมีหรือคนยากจน  คนที่เป็นที่นิยมชมชอบในสังคมหรือคนที่สังคมรังเกียจ เช่น  โสเภณี  คนเก็บภาษี  คนต่างชาติ   เป็นต้น

กลุ่มคนที่พระเยซูทรงประกาศข่าวประเสริฐเป็นลำดับแรก คือ คนยิว  เพราะพระเจ้าทรงบอกกับบรรพบุรุษของเขาว่า ทรงเลือกสรรชนชาตินี้ให้เป็นประชากรของพระองค์  เพื่อให้เขานำพระพรไปถึงคนอื่นๆ ในโลกนี้ (ปฐก.12:1-3,26:4)    คนยิวมีพื้นฐานความรู้และมีความเชื่อในพระเจ้าอยู่แล้ว (มธ.15:24)      จึงมีโอกาสที่จะเปิดใจตอบสนองต่อข่าวประเสริฐได้มากกว่า   และพระองค์จะทรงใช้พวกเขาให้นำข่าวประเสริฐนี้ไปสู่ชนชาติอื่นต่อไป (1ปต.2:9)

อย่างไรก็ตาม การที่พระเยซูทรงเลือกประกาศกับคนยิวก่อน   ไม่ได้หมายความว่าผู้เชื่อในยุคปัจจุบันจะต้องมุ่งเน้นการประกาศกับคนกลุ่มยิวก่อนชนชาติอื่น    เพราะหากเป็นเช่นนั้น  ข่าวประเสริฐจะไปถึงคนทั้งโลกได้อย่างไร    แต่หลักการที่ควรเลียนแบบ คือ การมองหาคนที่มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องพระเจ้าอยู่บ้าง หรือมีใจแสวงหาพระเจ้า  เช่น  อาจเป็นคนที่สนใจศึกษาเรื่องราวของพระเจ้า   เคยได้ยินเรื่องราวของพระเยซู  เป็นต้น   คนเหล่านี้ย่อมมีใจเปิดต่อข่าวประเสริฐและพร้อมจะฟังในสิ่งที่เราสื่อสารได้ง่ายกว่าคนที่ไม่สนใจจะศึกษาเรื่องราวของพระเจ้าเลย   และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อข่าวประเสริฐได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่พระเยซูทรงนำข่าวประเสริฐไปถึงเขา ได้แก่  คนสะมาเรีย  ทหารโรมัน  คนที่เป็นโรคเรื้อน  และคนเก็บภาษีให้จักรวรรดิโรมัน   แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นที่รังเกียจของคนยิว  แต่พระเยซูไม่มีอคติกับพวกเขา    พระองค์ทรงหาโอกาสในการประกาศข่าวดีเรื่องอาณาจักรสวรรค์เสมอ    เช่น  ขณะเสด็จผ่านไปแคว้นกาลิลี พระองค์ทรงประกาศกับหญิงสะมาเรีย (ยน.4)     หรือขณะเสด็จไปยังเมืองคาเปอรนาอุม ทรงสนทนากับทหารโรมันที่ทูลขอด้วยความเชื่อ  และทรงรักษาบ่าวของเขาที่ป่วยหนักให้หายดี (มธ.8:1-9; ลก.7:1-17)

พระเยซูทรงประกาศกับคนโรคเรื้อนที่สังคมรังเกียจไม่ข้องแวะด้วย   คนกลุ่มนี้ถูกห้ามไม่ให้ร่วมพิธีทางศาสนา  ไม่สามารถเข้าไปในธรรมศาลา และไม่สามารถแม้แต่จะอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเอง  ต้องแยกตัวออกไปอยู่ต่างหากในฐานะคนที่เป็นมลทิน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังผู้อื่น (ลนต.13:45-46; 14:1-20)   โรคเรื้อนเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า ความบาปร้ายแรง  น่ารังเกียจ และแพร่ไปยังผู้อื่นได้   เพราะเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง  สามารถมองเห็นอย่างชัดเจนว่าผิวหนังผิดปกติ และมักลุกลามจนใบหน้า มือ เท้า พิการผิดรูป  คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้จึงถูกทรมานทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ   แทบไม่มีโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติและได้รับการยอมรับจากสังคมอีกครั้ง     แต่ถึงกระนั้นพระเยซูไม่ทรงรังเกียจ   พระองค์ทรงนำข่าวประเสริฐไปถึงเขา  และทรงแตะต้องสัมผัสเพื่อรักษาเขาให้หาย (มธ.8:1-4; มก.1:40-45, ลก.5:12-16)   เพราะพระองค์เสด็จมาเพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติที่ทุกข์ทรมานจากความบาปที่น่ารังเกียจ

คนอีกกลุ่มที่คนยิวไม่คบหาสมาคมด้วย และตราหน้าว่าเป็นคนนอกศาสนาและทรยศต่อชาติ คือ คนเก็บภาษี   เพราะเรียกเก็บภาษีจากประชาชนอย่างขูดรีดเพื่อส่งให้โรมัน  และโกงเข้ากระเป๋าตนเองจนร่ำรวย    คนเก็บภาษีถูกจัดอยู่ในพวกเดียวกับอาชญากรและฆาตกร   ถูกขับไล่ไม่ให้เข้าธรรมศาลาซึ่งเป็นที่ชุมนุมทางศาสนาของคนยิว   แต่พระเยซูทรงรัก ยอมรับ และเห็นคุณค่าของคนกลุ่มนี้   พระองค์ทรงเรียกมัทธิว คนเก็บภาษีให้ติดตามเป็นสาวกของพระองค์  (มธ.9:9-13; มก.2:13-17, ลก.5:27-32)  และทรงแวะสนทนากับศักเคียสคนเก็บภาษี  ตลอดจนเข้าไปพักอาศัยที่บ้านของเขาเพื่อนำความรอดไปถึงเขาและครอบครัว (ลก.19:1-10)

สำหรับพระเยซูคริสต์  ข่าวประเสริฐไม่ถูกสงวนไว้เฉพาะคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งเท่านั้น   เพราะทุกคนล้วนมีคุณค่าในสายพระเนตรของพระองค์ผู้ เสด็จมาเพื่อช่วยเหลือคนทุกประเภทให้ได้รับความรอด (มก.2:17)  ดังนั้น คริสเตียนจึงควรมีท่าทีเห็นคุณค่าคนทุกประเภทเช่นเดียวกับพระเยซู   โดยอธิษฐานขอสติปัญญาและการทรงนำให้เราพบคนที่เปิดใจแสวงหาและต้องการพระองค์    เพื่อเขาจะได้ฟังคำพยานเรื่องข่าวประเสริฐและต้อนรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด  และนำข่าวประเสริฐที่เขาได้รับนี้ไปสู่คนอื่นต่อไปดังที่พระเยซูทรงกระทำเป็นแบบอย่างแล้ว

แหล่งที่มา: รังสรรค์ สุกันทา และ สุปรียา สุกันทา.(2010)  รับใช้สไตล์พระเยซู. กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

โพสท์ใน การรับใช้ | ติดป้ายกำกับ , , , | ใส่ความเห็น

เตรียมพร้อมรับใช้สไตล์พระเยซู

วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1849 ฮัดสัน เทเลอร์ (Hudson Taylor)  ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าถึงเวลาที่ท่านต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อจะไปเป็นมิชชันนารีที่ประเทศจีน     นับตั้งแต่วันนั้น ท่านเปลี่ยนฟูกนอนอันอ่อนนุ่มมาเป็นเสื่อแข็ง  ออกไปแจกใบปลิวเพื่อประกาศพระกิตติคุณและจัดการประชุมขึ้นในบ้านหลายครั้ง   ศึกษาภาษาจีนจากพระธรรมลูกาฉบับภาษาจีนกลาง  ยืมหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาเพื่อศึกษา  ตลอดจนศึกษาภาษากรีก ฮีบรู และละติน

ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1851       ท่านจากบ้านเกิดอันแสนสงบที่หมู่บ้านบาร์นสลีย์  เมืองยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ  ไปอาศัยที่เมืองฮัลล์ ในแถบเดรนท์ไซด์  ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่ยากไร้และตกอยู่ในสภาพอันน่าหดหู่เพื่อฝึกปฏิเสธความต้องการของตนเองและรับใช้ผู้อื่นในงานแพทย์มิชชันนารี    ท่านใช้เวลาว่างจากการทำงานไปรักษาผู้ป่วยข้างถนนที่เต็มไปด้วยคนยากไร้     ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดและช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน  ณ ที่นั่น ท่านฝึกตนเองให้เชื่อวางใจในการเลี้ยงดูที่มาจากพระเจ้า

ครั้งหนึ่งขณะที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ยากไร้และหิวโหย   ในเวลานั้นท่านมีเพียงเหรียญเงินสุดท้ายเพียงเหรียญเดียว     ท่านบอกกับตนเองว่า “ฉันเล่าให้คนอื่นฟังเรื่องพระบิดาในสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักและพระเมตตา   แต่ตัวฉันเองกลับไม่เตรียมตัวให้พร้อมที่จะไว้วางใจพระองค์ในยามที่ไม่มีเงิน  เมื่อท่านจึงมอบเหรียญเงินสุดท้ายแก่ผู้ป่วยคนนั้น    วันต่อมา  ท่านได้รับซองจดหมายที่ภายในบรรจุเหรียญทองที่มีค่าสิบเท่าของเหรียญเงินที่ท่านให้คนยากจนไป  ท่านพูดติดตลกว่า “ ผมลงทุนฝากในธนาคารของพระเจ้าเพียงสิบสองชั่วโมง แล้วผมก็ได้รับดอกเบี้ยที่สูงมาก ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านมั่นใจในพระเจ้าผู้ทรงประทานการดูแลมายังชีวิตของท่านอย่างอัศจรรย์    และทำให้ท่านพร้อมแล้วที่จะดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อในรับใช้ที่ประเทศจีน

ต่อมา ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.1852  ท่านเดินทางมายังกรุงลอนดอน เพื่อฝึกหัดวิชาชีพแพทย์เพิ่มเติมจนสำเร็จ    เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1853 ท่านออกเดินทางไปยังประเทศจีนทางเรือ  และไปถึงเมืองเซียงไฮ้ ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1854   ขณะนั้น ท่านมีอายุ 21 ปี 10 เดือน  หลังจากนั้น ตลอดระยะเวลา 51 ปีที่รับใช้ในประเทศจีน   ท่านได้ก่อตั้งศูนย์พันธกิจ 20 แห่งและมีมิชชันนารี 849 คน  ฝึกอบรมผู้รับใช้ชาวจีนประมาณ 700 คน  จัดหาทุน 4 ล้านดอลลาร์ด้วยความเชื่อ  และพัฒนาคริสตจักรในประเทศจีนที่มีผู้เชื่อจำนวน 125,000 คน  มีผู้กล่าวว่า ท่านได้ให้บัพติศมาในน้ำแก่ผู้เชื่อราว 50,000 คน และนำคนอย่างน้อย 35,000 คนกลับใจด้วยตัวท่านเอง

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จอันงดงามแห่งการรับใช้ของท่านเป็นผลเนื่องมาจากช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งคือ ช่วงเวลาแห่งการเตรียมชีวิต  โดยเฉพาะระหว่างปี ค.ศ. 1849-1853   ที่ท่านเตรียมตนเองราวสี่ปีในด้านความรู้ทางการแพทย์ ความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของชาวจีน   ความชำนาญในการศึกษาพระคัมภีร์   ทักษะในการรับใช้พระเจ้าด้วยการปฏิบัติจริง   การเติบโตฝ่ายวิญญาณและการดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ  ตลอดจนการฝึกฝนตนเองทางกายภาพให้พร้อมเผชิญต่อสภาพยากลำบาก  เพราะการรับใช้ในดินแดนแห่งประเทศจีนอันไกลโพ้นและเสี่ยงภัยนั้น   ท่านต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยพึ่งพาพระเจ้าเท่านั้น    ในช่วงเวลาแห่งการเตรียมชีวิตนั้นเอง           ท่านเรียนรู้ที่จะมั่นใจในพระเจ้าผู้ทรงตอบคำอธิษฐานและเคลื่อนใจมนุษย์   จึงทำให้ท่านพร้อมแล้วที่จะเดินทางไปยังประเทศจีน

ตัวอย่างชีวิตของฮัดสัน เทเลอร์ชี้ให้เห็นว่าการเตรียมชีวิตให้พร้อมเป็นขั้นตอนที่จำเป็นยิ่งในการรับใช้อย่างเกิดผล     ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างดีเสมอ   และสิ่งนี้คือหลักการสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างประสบความสำเร็จด้วยเช่นเดียวกัน   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องรับผิดชอบในการทำบางสิ่งที่สำคัญยิ่งต้องเตรียมพร้อมให้มากขึ้น  เหมือนดังนักศึกษาแพทย์กว่าจะจบหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตซึ่งใช้ระยะเวลา 6 ปี  เพื่อเป็นแพทย์ผู้สามารถดูแลรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วยได้นั้นจะต้องผ่านการศึกษาวิชาการแพทย์และฝึกหัดทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและการปฏิบัติงานด้านคลินิกก่อน   โดยนักศึกษาแพทย์จะฝึกปฎิบัติทำหน้าที่ภายใต้การควบคุมของอาจารย์แพทย์และแพทย์ประจำบ้าน   และต้องสอบผ่านการประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม   ตลอดจนการประเมินความรู้รวบยอดของสถาบันเพื่อรับปริญญาบัตร   เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต

หากแพทย์ซึ่งเป็นผู้เยียวยาความเจ็บป่วยฝ่ายร่างกายยังต้องรับการฝึกฝนอบรมให้มีความเชี่ยวชาญในการรักษา      เราทั้งหลายที่เป็น คริสเตียนผู้ซึ่งพระเจ้าทรงมอบหมายให้มีส่วนเยียวยาผู้เจ็บป่วยฝ่าย      จิตวิญญาณควรยิ่งต้องรับการฝึกฝนเตรียมความพร้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนทั้งหลายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

ไม่มีผู้ใดประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากการเตรียมพร้อม!  หากคุณต้องการประสบความสำเร็จในการอาชีพก็ควรหมั่นศึกษาและพัฒนาตนเองในทักษะด้านต่างๆ อยู่เสมอ   ดังนั้น หากคุณต้องการรับใช้พระเจ้าอย่างเกิดผลก็ต้องเตรียมตนเองอย่างดี

เป็นไปได้หรือไม่ว่า   คริสเตียนบางคนตั้งใจรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มที่แต่ไม่เกิดผลมากนักเพราะขาดการเตรียมพร้อม         อยากเป็นผู้สอนพระวจนะที่ดี  แต่ไม่ได้เตรียมตัวด้านการศึกษาพระคัมภีร์อย่างเป็นระบบ     อยากจะเป็นนักดนตรีเพื่อนมัสการพระเจ้า   แต่ไม่ได้จัดเวลาฝึกฝนหรือไปอบรมทักษะเพิ่มเติม   ถ้าเป็นเช่นนี้  จำเป็นต้องกลับมาทบทวนและวางแผนชีวิตใหม่   คริสตจักรและองค์กรคริสเตียนต่างๆ  จำเป็นที่ต้องมีการเตรียมพร้อมที่ดีเช่นกัน   ผู้รับใช้บางท่านอยากจะเห็นคริสตจักรเจริญเติบโตแต่ไม่ได้ให้น้ำหนักในการสร้างสาวก   อยากจะเห็นคนจำนวนมากได้รับพระคุณความรอด  แต่ไม่ได้ส่งเสริมบรรยากาศการประกาศในคริสตจักร    หากองค์กรใดขาดระบบที่ดีในการเตรียมบุคลากรหรือความพร้อมด้านต่างๆ   งานรับใช้นั้นก็ไม่สามารถเกิดผลสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

การรับใช้สไตล์พระเยซูจึงต้องเริ่มต้นที่การเตรียมพร้อมเพื่อการรับใช้   ชีวิตและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่บันทึกไว้ในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มล้วนให้ความเข้าใจแก่เราว่าพระองค์ทรงเตรียมพร้อมเมื่อเสด็จมาในโลกนี้เพื่อกระทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ     และพระองค์ทรงคาดหวังให้เราเตรียมพร้อมเพื่อการกระทำพระประสงค์ของพระองค์ให้สำเร็จเช่นเดียวกัน

แหล่งที่มา: รังสรรค์ สุกันทา และ สุปรียา สุกันทา.(2010)  รับใช้สไตล์พระเยซู. กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

โพสท์ใน การรับใช้ | ติดป้ายกำกับ , , | ใส่ความเห็น

ยิ่งใกล้ชิดพระเจ้า..ยิ่งได้รับการเติมเต็ม

พระเจ้าทรงเป็นแหล่งแห่งความบริบูรณ์  ทรงเปี่ยมด้วยสติปัญญา (สดด.104:24)  มหิทธิฤทธิ์ (ปฐก.35:11)  และความมั่งคั่ง (1 พศด.29:12; 2 คร.8:9)  ในพระองค์ไม่มีความจำกัด  พระองค์สามารถดำรงอยู่ได้โดยพระองค์เอง  ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใด

แต่มนุษย์มีความจำกัดในทุกด้าน  ทั้งในด้านสติปัญญา กำลัง  ความรู้  และความสามารถ  มนุษย์ยังมีความบกพร่อง   จุดอ่อน  หรือปัญหาส่วนตัวอันเนื่องมาจากความบาป   แต่ทว่ามนุษย์จำนวนมากไม่ได้ตระหนักถึงความจริงนี้  และหลงผิดคิดว่าตนเองเก่ง  ฉลาด มีความสามารถ  มีกำลังเรี่ยวแรงมากมาย  ร่ำรวยจนสามารถซื้อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ได้  แท้จริงแล้วไม่มีนุษย์คนใดสมบูรณ์พร้อมในตนเอง  บางคนอาจจะมีหลายอย่างมากกว่าคนอื่น  หรือมีในสิ่งที่คนอื่นไม่มี  แต่ไม่มีใครที่มีทุกอย่างครบถ้วนบริบูรณ์จนไม่ต้องพึ่งผู้อื่นเลย  และไม่มีมนุษย์คนใดสามารถอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่น  อย่างน้อยที่สุดต้องให้ผู้อื่นช่วยทำคลอดขณะถือกำเนิด  และช่วยฝังศพหลังจากสิ้นลมหายใจแล้ว

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักอีกประการหนึ่งคือ  ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ใครได้ทุกเรื่องและทุกเวลา   เพราะทุกคนต่างก็มีความจำกัด  แม้เขาอยากจะช่วย  แต่บางครั้งเขาไม่สามารถช่วยได้  เพราะอ่อนแอหรือบกพร่อง  ผู้ที่เป็นพ่อแม่คงเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีว่า  แม้จะรักห่วงใยและอยากจะดูแลช่วยเหลือลูกในเวลาที่ลูกมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือมากเพียงใด   แต่บางครั้งก็ไม่สามารถจะช่วยลูกได้เพราะพ่อแม่เองมีความจำกัด เช่น  ในยามที่ลูกทุกข์ทรมานเพราะเจ็บป่วย  พ่อแม่อยากจะให้ลูกได้รับการรักษาให้หายในทันที   หากเป็นไปได้ก็อยากจะรับความเจ็บป่วยแทนลูกเสียเอง  แต่ก็ไม่อาจช่วยให้ลูกหายได้ดั่งใจต้องการเสมอไป

ดังนั้น มนุษย์จึงจำเป็นต้องเข้ามาใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้าผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งความบริบูรณ์  เพื่อจะได้รับการเติมเต็มในสิ่งที่ขาดไป และรับการแก้ไขในสิ่งที่บกพร่อง  การเติมเต็มในที่นี้หมายถึง การทรงประทานให้อย่างเพียงพอและครบบริบูรณ์จากพระเจ้า     ยิ่งใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้าคุณยิ่งจะได้รับการเติมเต็ม ในด้านร่างกาย เช่น การรักษาโรค  การจัดสรรสิ่งจำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีวิต (ฉธบ.30:9; 2 คร.9:11) ในด้านจิตใจ คุณจะได้รับสันติสุข  การยอมรับ  ความรัก  ความมั่นคงทางใจ  และความอิ่มเอมใจ  ส่วนในด้านจิตวิญญาณนั้น  คุณจะเจริญเติบโตขึ้น (1 ปต.2:2;  สดด.1:3)  จนในที่สุดคุณจะมีชีวิตที่ครบบริบูรณ์ในทุกด้าน (ยน.10:10)

อย่างไรก็ตาม การเติมเต็มนั้นไม่ได้หมายความว่าจะได้รับทุกสิ่งที่คุณต้องการ  หรือมีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างบนโลกนี้  โดยทางนิตินัยพระเจ้าทรงเติมเต็มคุณในทุกด้าน  แต่ในทางพฤตินัยนั้น บางอย่างอาจจะไม่ได้สมบูรณ์หรือเกิดขึ้นทันที    ในโลกนี้คุณอาจจะยังขาดบางสิ่งบางอย่างหรือยังต้องเผชิญปัญหาอยู่  แต่จิตใจของคุณได้รับการเติมเต็มด้วยสันติสุข  และการช่วยเหลือจากพระเจ้าในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างมีความสุข และสามารถทำงานรับใช้ตามน้ำพระทัยของพระเจ้าให้สำเร็จ   

เหมือนดังชีวิตของ จอนนี่  เอียเรคสัน ทาดะ (Joni Eareckson Tada) ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการกระโดดน้ำในปี ค.ศ.1967 ขณะอายุ 17 ปี  ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไปจนถึงปลายเท้า  เธอเชื่อวางใจในพระเจ้า  แม้ว่าไม่ได้รับการรักษาให้หายจากความพิการดังที่คาดหวังไว้  แต่พระเจ้าทรงประทานพระคุณแก่เธอในด้านต่างๆ ทำให้ชีวิตได้รับการเติมเต็ม  เธอดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  และมีส่วนในการรับใช้พระเจ้า  เธอเขียนหนังสือเล่าประวัติชีวิตของเธอเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้คน  หนังสือของเธอถูกแปลเป็นหลายภาษา และเรื่องราวชีวิตก็ได้ทำเป็นภาพยนตร์    ปัจจุบัน เธอก่อตั้งองค์กรชื่อ “จอนนี่และเพื่อน” (Joni and Friend)  แม้จะพิการ แต่เธอก็เดินทางไปทั่วโลกร่วมกับสามีเพื่อประกาศเรื่องราวของพระเจ้า

ครั้งหนึ่งในงานประกาศครูเสดของบิลลี่ เกรแฮม  เธอกล่าวว่า  “การที่ต้องติดอยู่บนรถเข็นดูเหมือนว่าเราถูกจำกัด   แต่เมื่อนึกถึงพระเยซูผู้ต้องมีสภาพดังเป็นอัมพาตที่กางเขนเพราะความรักที่พระองค์ทรงมีต่อดิฉัน แม้ในขณะนั้นดิฉันเองไม่ได้ตระหนักถึงความรักของพระองค์... ดิฉันรู้ว่าดิฉันคงไม่ได้อยู่ที่นี่ในวันนี้เพื่อจะกล่าวคำพยานที่ถวายเกียรติแด่พระองค์  ถ้าปราศจากพระองค์ผู้ทรงกระทำกิจนี้...  บางครั้ง มันอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะคิดถึงสวรรค์ที่ดูเหมือนห่างไกล  แต่ดิฉันก็คิดถึงสวรรค์  คิดถึงเวลาที่วันหนึ่งจะมีมือใหม่  เท้าใหม่  และยืนอยู่ต่อหน้าองค์พระเยซูคริสต์      และดิฉันจะยกมือขึ้นเพื่อสรรเสริญพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้า และทรงเป็นจอมกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายถ้าวันนั้นในปี 1967  ดิฉันไม่ได้กลายเป็นอัมพาตเพราะกระโดดน้ำ   วันนี้ ดิฉันคงไม่ได้อยู่ตรงนี้เพื่อประกาศถึงพระสิริของพระเจ้า  ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากจริงๆ”  

ปัจจุบันจอนนี่อายุ  61 ปีแล้ว  เธอได้รับการยกย่องจากองค์กรคริสเตียนหลายหน่วยงาน  เช่น ในปี ค.ศ. 2009  เธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัล “ผู้รับใช้ฆารวาสแห่งปี” (Layperson of the Year)  จากสมาคมอีแวนเจลิคอลแห่งชาติ (National Association of Evangelicals)

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเผชิญสถานการณ์ใดในโลกนี้  ขอให้มั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงดูแลคุณ  ให้ดำเนินชีวิตโดยคาดหวังความสมบูรณ์ที่จะมาในอนาคต

แหล่งที่มา:   รังสรรค์ สุกันทา (2011)   ใกล้ชิดสนิทพระเจ้า กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

โพสท์ใน การรับใช้ | ใส่ความเห็น

เริ่มต้น..ใกล้ชิดสนิทพระเจ้า

คำว่า “เชื่อมต่อ” หรือ Connect” ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายในหลายแง่มุม เช่น เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน    เชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างกัน  เป็นเหตุให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน  เชื่อมต่อกันทางความคิดหรือความรู้สึก เชื่อมต่อกับระบบการสื่อสารโทรคมนาคม หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์  เป็นต้น    แต่ไม่ว่านำมาใช้ในความหมายลักษณะใดก็ตามต้องมีการเชื่อมโยงกันระหว่างองค์ประกอบอย่างน้อยสองสิ่งขึ้นไป    ดังนั้น เมื่อใช้คำว่า “เชื่อมต่อ” เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ย่อมต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสองฝ่ายขึ้นไป

ความนิยมในการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า เราต่างต้องการเชื่อมต่อกับบางคน     จากสถิติของสหพันธ์โทรคมนาคมนานาชาติ (International Telecommunication Union)      พบว่า ในปี 2010  มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 5,282 ล้านคน คิดเป็น 76.2% ของประชากรโลก      มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 2,084 ล้านคน คิดเป็น 30.1% ของประชากรโลก [1] จนมีผู้กล่าวว่า “โลกใบนี้เล็กลง” เพราะคนแต่ละซีกโลกสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ได้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่อยู่ในกระแสความสนใจคือ การสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ หรือ Social Network ที่สร้างเครือข่ายการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลต่างๆ ตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊ค (Facebook) หนึ่งในสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2004    หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 6 ปี  ผู้ใช้งานเฟซบุ๊คมีจำนวนสูงถึงราว 518 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 7.6 % ของประชากรโลก (สถิติ ณ วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.2010) [2]

เพราะเหตุใดสังคมออนไลน์จึงได้รับความนิยมอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น นั่นก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องการการปฏิสัมพันธ์    คนกลุ่มหนึ่งจึงเลือกใช้รูปแบบการสื่อสารที่สะดวกผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อจะรักษามิตรภาพและความสัมพันธ์นั้น  นอกจากนี้  คนจำนวนไม่น้อยก็ยังเลือกใช้ช่องทางนี้เพื่อริเริ่มสร้างสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ โดยทำความรู้จัก แสดงไมตรีจิต หรือเพื่อเชื่อมต่อระหว่างกันด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง ตามที่เทคโนโลยีปัจจุบันเอื้อให้กระทำเช่นนั้นได้

อย่างไรก็ตาม แม้ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์จะพยายามสร้างเครื่องมือต่างๆ ให้ผู้คนเชื่อมต่อกันได้ใกล้ชิดขึ้น เช่น การมองเห็นอีกฝ่ายหนึ่งผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการสนทนาโต้ตอบกันได้โดยทันที (Real time)     แต่การเชื่อมต่อในรูปแบบนี้ก็ยังเป็นเพียงสังคมเสมือนจริงหรือโลกเสมือนจริง   ผู้คนในโลกอินเทอร์เน็ตจะเปิดเผยข้อมูลบางอย่างที่ต้องการให้คนอื่นรับรู้   แม้ปัจจุบันมีแนวโน้มในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากยิ่งขึ้น  แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ทั้งหมดว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นจริง

การเชื่อมต่อกับผู้คนในโลกเสมือนจริงนั้นแม้ง่าย รวดเร็ว และกว้างขวาง   แต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถพัฒนาระดับความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งมากขึ้นได้  ผู้ที่ปรารถนาจะรู้จักอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้นก็จะหาช่องทางเพื่อปฏิสัมพันธ์กับบุคคลจริง  เช่น นัดหมายพูดคุยกันหน้าต่อหน้า แต่การปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบนี้มีความเสี่ยง  เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของกัน  แม้มีโอกาสที่จะนำมาซึ่งมิตรภาพที่ดีและการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  แต่อาจนำไปสู่ความเสียหายทั้งด้านกายภาพและจิตใจได้

การมาเชื่อมต่อกันด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ถูกต้องหรือปราศจากความระมัดระวัง ก็อาจพลั้งพลาดถูกดึงให้ตกต่ำไปยังด้านมืดของสังคมออนไลน์     เราจึงต้องเชื่อมต่อกับผู้อื่นอย่างมีสติปัญญา     รู้จักที่จะเปิดเผยตนเองอย่างเหมาะสม และต้องระวังภัยจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบนสังคมออนไลน์

การเชื่อมต่อในสังคมออนไลน์ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแตกต่างจากการเชื่อมต่อกับพระเจ้า         ในขณะที่เราไม่รู้จักตัวตนและจุดประสงค์ที่แน่ชัดของผู้คนที่มาเชื่อมต่อกับเรานั้น พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้เปิดเผยอย่างชัดเจนให้เรารู้จักพระเจ้าว่าทรงเป็นผู้ใด  และให้เรารู้ว่าทรงมีพระประสงค์ต่อเราเช่นไร

พระเจ้าทรงรักและหวังดีต่อเรา ทรงปรารถนาให้เราได้รับสิ่งดีเสมอ เหมือนดังที่พระเยซูคริสต์ทรงตรัสไว้ใน ยน.10:10 ว่า “ขโมยนั้นย่อมมาเพื่อจะลัก ฆ่า และทำลาย เรามาเพื่อพวกเขาจะได้ชีวิตและจะได้อย่างครบบริบูรณ์

มนุษย์ทุกคนจึงสามารถเชื่อมต่อชีวิตของตนกับพระเจ้าได้ด้วยความมั่นใจและความไว้วางใจว่า    การเชื่อมต่อกับพระเจ้าจะนำมาซึ่งพระพรอันบริบูรณ์  และนำเราไปสู่ทางแห่งความชอบธรรม แตกต่างจากการไปเชื่อมต่อกับมนุษย์ที่บางคนอาจมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นที่จะนำเราไปสู่ทางแห่งปัญหาหรือความเดือดร้อน

ศักเคียส เป็นบุคคลหนึ่งในพระคัมภีร์ที่กระตือรือร้นอย่างมากในการเชื่อมต่อกับพระเจ้า  พระธรรมลูกาบทที่ 19 บันทึกว่า ศักเคียสเป็นคนบาปหนาในสายตาของพี่น้องร่วมชนชาติ  เพราะเป็นชาวยิวแต่ทำหน้าที่เป็นนายด่านเก็บภาษีรับใช้ชาวโรมัน และร่ำรวยจากการฉ้อโกงผู้อื่น  ศักเคียสเป็นที่เกลียดชังและไม่มีใครอยากข้องแวะกับเขา

แต่เมื่อเขาได้ยินถึงเรื่องราวของพระเยซูคริสต์  เขาต้องการจะรู้จักกับพระองค์  เขารีบวิ่งไปยังถนนเมื่อรู้ว่าพระเยซูจะเสด็จมา  แม้มีคนมากและเขาเป็นคนเตี้ย  เขาก็พยายามชนะอุปสรรคโดยปีนขึ้นต้นมะเดื่อเพื่อจะได้เห็นพระองค์  พระเยซูคริสต์ไม่ได้รังเกียจเขา  ในทางตรงข้าม พระองค์เดินฝ่าฝูงชนจำนวนมากตรงไปยังเขาอย่างเจาะจง  ทรงตรัสเรียกชื่อของเขาแล้วบอกว่า พระองค์ต้องการไปพักที่ตึกของเขา  พระเยซูคริสต์ต้องการเชื่อมต่อกับเขา!!

คนมากมายประหลาดใจที่เห็นพระองค์ไปพักอยู่กับคนบาป แต่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นภายในจิตใจของศักเคียส  พระองค์ทรงรักและยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น โดยไม่ขึ้นอยู่กับพื้นภูมิหลังของเขา ต่อมาศักเคียสทูลพระองค์ว่า เขาจะคืนสิ่งของที่ฉ้อโกงและจะนำทรัพย์สมบัติของตนจำนวนครึ่งหนึ่งไปแจกทาน  เมื่อศักเคียสเชื่อมต่อกับพระเยซูคริสต์ ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป เขากลับมาสู่ความถูกต้องชอบธรรม  และได้รับความรอดตามที่พระเยซูคริสต์ทรงประทานพระสัญญา

บางคนอาจคิดว่าตนยังไม่ดีพอที่จะเชื่อมต่อกับพระเจ้า  และพระเจ้าก็คงไม่อยากเชื่อมต่อกับตน แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด แท้จริงแล้ว ไม่มีใครสามารถอ้างความดีของตนเองเพื่อให้รับสิทธิในการเชื่อมต่อกับพระเจ้า  ทุกคนล้วนแต่เป็นคนบาป   แต่เพราะพระคุณความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ พระองค์จึงริเริ่มที่จะเชื่อมต่อกับมนุษย์ก่อน โดยการเปิดเผยสำแดงพระองค์เองผ่านทางธรรมชาติที่พระองค์ทรงสร้าง ผ่านทางผู้เผยพระวจนะ ผ่านทางพระคัมภีร์   และที่สำคัญที่สุดคือผ่านทางพระเยซูคริสต์ผู้เสด็จมารับสภาพมนุษย์และตายไถ่บาปของมนุษยชาติ    เพื่อเป็นประจักษ์พยานสำแดงความรักของพระเจ้า  และทำให้มนุษย์มั่นใจว่าพระองค์ทรงปรารถนาจะเชื่อมต่อกับเราทุกคน

แหล่งที่มา:   รังสรรค์ สุกันทา (2011)   ใกล้ชิดสนิทพระเจ้า กรุงเทพฯ : ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

แหล่งอ้างอิง
[1] International Telecommunication Union. (2011).  Key Global Telecom Indicators for the World Telecommunication Service Sector [Online] Available: http://www.itu.int/ITU-D/ict/statistics/at_glance/KeyTelecom.html  (Access date : 31 March 2011)
[2] Internet World Stats. (2011). FACEBOOK USAGE AND INTERNET STATISTICS FOR AUGUST 31, 2010. [Online] Available: http://www.internetworldstats.com/stats25.htm (Access date : 31 March 2011)

โพสท์ใน การดำเนินชีวิต | ติดป้ายกำกับ , , | ใส่ความเห็น

จัดระบบเวลาชีวิต พิชิตเป้าหมาย : ตอน 3 บริหารตารางเวลา

ศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่า “การวางแผน” คือ “planning” (แพลน-นิ่ง)  บรรดาคนที่เขียนแผนได้ดีแต่ไม่สามารถทำตามแผนได้จึงมักถูกล้อเลียนว่าทำ “แผนนิ่ง”    หากคุณเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกล้อว่า “แผนนิ่ง” แสดงว่า คุณยังไม่สามารถใช้เวลามีอยู่ได้อย่างดี   เพราะถ้าคุณมีการวางแผนอย่างเป็นระบบและปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้ ผลงานที่ออกมาก็จะมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล   แผนนั้นจะไม่นิ่ง   แต่จะมีความคืบหน้าและมุ่งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

มีสองสิ่งที่คุณควรเรียนรู้เพื่อให้บริหารเวลาอย่างดี นั่นคือ  การควบคุมตารางเวลา และ การประเมินผลเพื่อปรับปรุงการใช้เวลาอยู่เสมอ

1. ควบคุมตารางเวลาได้มากเท่าไร ยิ่งใกล้ความสำเร็จ

หากคุณมีแผนหรือตารางเวลา  แต่ไม่สามารถควบคุมเวลาให้เป็นไปตามแผนที่ตั้งใจไว้   นั่นแสดงว่าคุณยังไม่ได้บริหารเวลา   คนที่ไม่เรียนรู้ในการควบคุมตารางเวลาจะเผชิญกับความตึงเครียดบ่อยครั้ง   แตกต่างจากคนที่สามารถควบคุมตารางเวลาของตนได้ดีจะอยู่เหนือแรงกดดันหรือความตึงเครียดได้

บางคนมีแผนเวลาแต่ควบคุมไม่ได้โดยอ้างว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น ไม่มีสมาธิในการทำงานเพราะที่ทำงานเสียงดัง   ฝนตกรถติดทำให้เสียเวลาเดินทางหลายชั่วโมง   เหตุการณ์นอกเหนือการควบคุมของคุณนั้นอาจเกิดขึ้นได้บ้าง   แต่คงไม่บ่อยครั้งนัก   และคุณสามารถหาทางแก้ไขเพื่อจะปรับเปลี่ยนตารางเวลาให้ดียิ่งขึ้นได้

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่  คุณต้องควบคุมตนเอง  คุณต้องสร้างวินัยจนกลายเป็นลักษณะชีวิตของคุณ    ยิ่งคุณอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเวลามากเท่าใด   คุณยิ่งต้องบริหารเวลาของคุณเองให้ดีมากขึ้นเท่านั้น    ไม่ใช่เรียกร้องให้คนอื่นมาบริหารเวลาให้คุณ   แม้คุณอาจมีเลขาหรือผู้ช่วย   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะบริหารเวลาได้ดีกว่าคุณ   หรือสามารถช่วยบริหารเวลาให้คุณได้ตลอด 24 ชั่วโมง    การบริหารเวลาของใครก็ตามจึงเป็นเรื่องของบุคคลนั้นเองที่ต้องตระหนักเรื่องการใช้เวลาของตนเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า !

คนที่ควบคุมตารางเวลาได้ดีมักจะไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแผนบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น  ในขณะที่คนที่ไม่ควบคุมตารางเวลามักจะเปลี่ยนแผนอยู่เรื่อยๆ   ก็ยากที่จะทำให้เป้าหมายหลักสำเร็จได้   คุณจึงต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองให้บริหารเวลาอยู่เสมอ ต้องตื่นตัว กระตือรือร้น ลงรายละเอียด   โดยเฉพาะถ้าหากคุณเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้รับผิดชอบบริหารโครงการ  คุณยิ่งต้องเอาจริงเอาจังอย่างมากในการกำกับเวลา   ต้องกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษกว่าผู้อื่น  เพื่อจะควบคุมและกำกับงานที่มอบหมายให้ผู้อื่นกระทำสำเร็จด้วย  ไม่เพียงแต่ทำงานเฉพาะส่วนของคุณเท่านั้น

2. ประเมินผลเป็นประจำ…..ทำให้งานเจริญ

การประเมินผลเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้คุณสามารถพัฒนาทักษะในการบริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้น   เพราะหลายครั้งที่คุณวางแผนและทำตามแผน   แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น  หรือบางครั้งอาจเกิดสภาวะที่เรียกว่า “ความไม่สมดุลในการใช้เวลา” 

คุณจึงควรจัดเวลาสำหรับการประเมินผลตารางเวลาทั้งในระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาวด้วย  เช่น  บางคนอาจใช้เวลาตอนเย็นหลังเลิกงานเพื่อประเมินผลว่าการทำงานในวันนั้นเป็นไปตามแผนหรือไม่   บางคนอาจใช้เวลาทุกวันศุกร์ตอนเย็นเพื่อประเมินผลการทำงานตลอดสัปดาห์   และวางแผนการทำงานของสัปดาห์ถัดไป เป็นต้น

การประเมินผลที่ดีจึงควรทำอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาของแผน   โดยผมขอเสนอวิธีการง่ายๆ ที่ใช้ประเมินผลการใช้เวลา คือ พิจารณาเปรียบเทียบ “เวลาจริงที่คุณใช้” กับ “เวลาที่วางแผนในตารางเวลา”   และวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้การใช้เวลานั้นไม่ตรงกับแผนที่วางไว้    ด้วยเหตุนี้   ในตารางเวลาจึงควรระบุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละสัปดาห์ด้วย เพื่อจะประเมินได้ว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นสำเร็จหรือไม่  ส่วนโครงการที่ต้องใช้เวลาทำงานต่อเนื่อง คุณควรกำหนดการประเมินผลเป็นระยะๆ ก่อนสิ้นสุดโครงการด้วย    ผมพบว่าแม้หน่วยงานใหญ่ของภาครัฐและภาคเอกชนก็มักประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการเท่านั้น   ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เพราะโครงการจบไปแล้ว  ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรในโครงการนั้นได้อีก

นอกจากนี้  คุณยังสามารถขอให้คนอื่นประเมินการใช้เวลาของคุณด้วย เช่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือโค้ชที่ให้คำแนะนำคุณเรื่องการใช้เวลา   เพราะแม้บางสิ่งที่คุณเห็นว่าดีแล้วนั้น  เมื่อมีคนอื่นร่วมประเมินก็จะช่วยชี้ให้เห็นบางจุดที่คุณไม่คาดคิดก็ได้   คุณจึงควรเปิดใจรับฟังสิ่งที่ผู้อื่นแนะนำและนำไปปรับปรุงตารางเวลาของคุณ   เพื่อจะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาทักษะในการบริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้น

หลายคนอาจพยายามควบคุมตารางเวลาของตนมาระยะหนึ่งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะเหตุประนีประนอมไม่ควบคุมตนเอง หรือเมื่อทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจก็รู้สึกท้อแท้ ก็จึงล้มเลิกไม่ทำอีก  หากคุณประเมินผลด้านการใช้เวลาแล้วพบว่ายังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายก็ไม่ควรท้อใจ  แม้อาจใช้เวลานับเป็นแรมปีแต่ตราบใดที่คุณตั้งใจและพยายามทำตามแผนอย่างต่อเนื่อง   ในที่สุดคุณจะถูกหล่อหล่อมให้มีอุปนิสัยที่ดีและทำได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ว่าบางครั้งแม้คุณสามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ   ก็อาจไม่ได้หมายความว่าคุณใช้เวลาได้ดีเสมอไป   ยังต้องพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ และการใช้เวลาอย่างต่อเนื่องทั้งรายเดือน รายไตรมาส รายปี     การทำงานเสร็จตามเป้าหมายได้บางอย่างแต่งานอื่นเสียหายแสดงว่ายังบริหารเวลาไม่สมดุล เช่น  หากประสบความสำเร็จในการทำงานแต่สูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ  หรือหากทำหน้าที่ดูแลครอบครัวของตนได้ดีแต่ไม่มีส่วนในงานรับใช้พระเจ้าในคริสตจักรเลยก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย    และยังทำให้คริสตจักรไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างที่ควรเป็นอีกด้วย   คุณจึงต้องกลับมาพิจารณาตารางเวลาของตนเองอยู่เสมอเพื่อจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง  ปรับลดกิจกรรมบางอย่าง และเพิ่มกิจกรรมบางอย่างแทนเพื่อการใช้เวลานั้นจะส่งผลดีต่อบทบาทในทุกด้าน

ปัจจุบันมีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีช่วยในการบริหารเวลาหลายอย่าง เช่น การตั้งระบบเตือนในมือถือ  ในโปรแกรมตารางเวลาทางอินเทอร์เน็ต   คุณสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อบริหารจัดการเวลาของคุณได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา: รังสรรค์ สุกันทา. (2010)  ใช้เวลาอย่างไรให้ถูกใจพระเจ้า.  กรุงเทพฯ: ครีเอชั่นบุ๊คแอนด์มีเดียพับลิชชิ่ง

โพสท์ใน การดำเนินชีวิต | ติดป้ายกำกับ , , , | ใส่ความเห็น